เมืองไทยไม่น่าเลย!: กุมภาพันธ์ 2012

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 23, 2555

หวังอะไร ฤา คนไทย

หวังอะไร ฤา คนไทย

คนไทยหวังสิ่งใด
หวังเห็นการปรองดอง
หวังเห็นการอ่อนข้อให้แก่กันของฝ่ายตรงข้าม
หวังเห็นความสงบเรียบร้อย ไม่มีการชุมนุม
หวังเห็นรัฐบาลอ่อนข้อให้ฝ่ายค้าน
หวังเห็นฝ่ายค้านไม่ดึงแข้งขารัฐบาล
หวังเห็นมาตราฐานเดียว ไม่มีสองมาตราฐาน
หวังเห็นใครๆมอบความรักให้แก่กันไม่เกลียดชังกัน

คนไทยหวังในหลายสิ่งมากมาย
ที่ไม่อาจเป็นจริงได้ อย่างน้อยก็ในขณะนี้
เรื่องนี้มีสองประเด็นหลัก
คุณหวังเห็นการปรองดอง แต่คุณไม่หวังจะยอมให้อีกฝ่าย
คุณหวังเห็นการอ่อนข้อให้แก่กันของฝ่ายตรงข้ามแต่คุณไม่อยากเห็นการสมยอมด้วยผลประโยชน์ที่แลกแก่กัน
คุณหวังเห็นความสงบเรียบร้อยไม่มีการชุมนุมให้คุณเดือดร้อน แต่คุณก็มีเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับชาวบ้านอยู่
คูณหวังเห็นรัฐบาลไม่ไล่ตามเช็คบิลฝ่ายค้าน นั่นเพราะคุณมีใจช่วยฝ่ายค้าน และคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้มันแล้วกันไป ตายไปไม่กี่คนยังเหลือคนอีกเป็นล้าน เพราะคุณไม่ใช่ญาติโยมของผู้ตาย
คุณหวังเห็นฝ่ายค้านไม่ขัดแข้งขารัฐบาล นั่นเพราะคุณเอาใจช่วยฝ่ายรัฐบาล อยากให้รัฐบาลทำอะไรราบรื่น แต่ความราบรื่นเหล่านั้นต้องถูกใจคุณ แล้วพอไม่มีคนตรวจสอบคุณก็มาโวยวายทีหลัง
คุณหวังเห็นมาตราฐานเดียวในสังคมเหมือนตาชั่งน้ำหนัก แต่คุณเองก็ไม่ได้เห็นการเคารพกติกาต้องเป็นสิ่งทีคุณต้องปฏิบัติตามทุกครั้ง อย่างเช่นถ้าต้องแซงซ้ายในท้องถนนคุณก็ยังทำ
คุณหวังให้ใครๆมอบความรักให้แก่กัน เพราะอยากให้ความรักที่เห็นแก่กันนั้นมันหมายถึงให้ใครๆก็เห็นแก่คุณให้คุณได้ถูกรักและอยู่ได้อย่างสงบอย่างที่คุณชอบ แต่คุณเองก็ยังมีรักเกลียดฝ่ายต่างๆไม่เท่ากันเช่นกัน

คุณหวังอะไรกัน ฤา ประเทศไทย ยังอยู่ในความฝันอย่างนั้นหรือว่าคนไทยจะรักกัน เหมือนเมื่อก่อน
แต่ขอโทษ อาจจะเป็นเพราะคุณไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจึงไม่ทราบว่า คำว่าเมื่่อก่อนคนไทยรักกันนั้นไม่มีอยู่จริง
เมื่อก่อนมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหนๆในโลกมันก็ดำเนินกันไปตามกฏที่ว่าคนแข็งแรงกว่าได้เปรียบ
คนโบราณเขาก็ไม่ได้รักกันหรอกครับ ถ้าทาษทำผิดก็ถูกโบยตีไม่ปราณีปราศรัย นั่นเพราะว่าเป็นกฏ
สมัยก่อนลูกชาวบ้านไม่ได้เป็นเจ้าใหญ่นายโต ก็เพราะว่ามันเป็นกฏ
สังคมอยู่ด้วยกฏเกณฑ์มาก่อนแต่เนิ่นนานแล้ว ไม่เช่นนั้นมันไม่อาจเป็นสังคมได้ มันไม่ได้อยู่ได้เพราะว่ามีใครๆรักกันปานจะกลืนกิน
ขอย้ำว่า เราเป็นสังคมได้ไม่ใช่เพราะว่า ความรัก แต่เป็นเพราะระเบียบกฏเกณฑ์และคุณค่าความนิยมที่ยึดถือร่วมกัน
เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป กฏเกณฑ์ก็ถูกเปลี่ยนแปลงมาตลอด สมัยก่อนถ้ากำนันผู้ใหญ่บ้านมาที่บ้าน ก็ต้องนั่งกับพื้นให้ท่านนั่งตั่ง แต่เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านเปลี่ยนสถานะไป ผู้ใหญ่บ้านจะเข้ามาในบ้านยังต้องขอ ไม่ให้เข้าก็ยังได้ อย่างมากก็นั่งระดับเดียวกัน
โลกมันเปลี่ยนไป กฏมันก็ต้องเปลี่ยนตาม เพราะคนเปลี่ยนแปลง
หากไม่หมุนตามการเปลี่ยนแปลงแล้ว ฝ่ายหนึ่งเปลี่ยน ฝ่ายหนึ่งไม่ยอมเปลี่ยนมันก็มีแต่ขัดแย้ง
และนำไปสู่การ่ต่อสู้กัน ทั้งทางความคิดและกำลัง ถ้าความคิดมันไม่อาจลงเอยด้วยเหตุผลได้
และสุดท้ายนำไปสู่การทำข้อตกลงใหม่ และกฏเกณฑ์ใหม่ ซึ่งยอมรับกันทั้งสองฝ่าย

คำถามคือมันต้องรอให้เกิดวาระสุดท้ายเช่นนั้นหรือ
บทเรียนในโลกนี้สอนเราว่า การใช้กำลังไม่ใช่หนทางเดียว ในโลกศิวิไลซ์เขาสามารถใช้เหตุและผล
แต่เหตุผลนั้นจะไม่มีวันเกิด ถ้าหากว่าเราเอาแต่ฝัน
และอยู่ด้วยความหวังที่เข้าข้างตนเองอยู่ฝ่ายเดียว คือจะเอาแต่เรื่องของฉัน
ถ้าจะเอาแต่เรื่องของฉัน ไม่ใช่แต่"เขา"ที่พัง ฉันก็จะพลอยพังไปด้วย

เช่นนั้นดังคำถามที่ตั้งว่า หวังอะไร ฤา คนไทย
สมควรหยุดหวังในสิ่งที่มันไม่เป็นจริง หันมามองความจริงที่ว่า ปรองดอง มันไม่ใช่คาถาวิเศษ
แต่ปรองดอง แท้ที่จริงคือทางตัน เพราะมันไม่มีทางเป็นจริง ตราบเท่าที่ความหมายของคำว่า ปรองดอง คือ แกต้องปรองดองกับฉันก่อน
เรามามองความจริงกันเถิดว่า มันไม่มีทางที่สองความเห็นมันจะเหมือนกัน
แต่มันมีทางที่เราจะยอมรับว่า ความเห็นที่ไม่เหมือนเรานั้นมีอยู่จริง
และเขาก็มีสิทธิที่จะเห็นแตกต่าง เหมือนที่เรามีสิทธิ
เพียงจุดเริ่มต้นนี้ จะทำให้เราคุยกันได้ คุยกันเรื่องการเมืองเหมือนที่เราคุยกันเรื่องละครหลังข่าว
รสนิยมในการดูไม่เหมือนกัน ก็นำมาชี้แจงกัน
ถ้าเขาเปลี่ยนใจมาชอบดูช่องเดียวกับเราก็ดี ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ไม่แน่ว่าฟังไปฟังมาเราก็ไปดูเรื่องที่เขาดูดีกว่า
หรืออยากจะสลับเรื่องดูก็ได้ แล้วแต่ว่าตอนไหนมันสนุก มันถูกใจเรา
ถ้าทำได้อย่างนี้ เราจะคุยกันได้เป็นเรื่องๆ โดยไม่มีอารมณ์ต่อกัน

ไม่ใช่มาทะเลาะกันว่า ฉันชอบอั้ม เธอชอบชมพู่ แล้วตบกันนัว

หวังอะไร ฤา คนไทย