เมืองไทยไม่น่าเลย!: 2017

วันอังคาร, มีนาคม 28, 2560

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ฤาจะซ้ำรอย กสทช

(บทความนี้เขียนในวันแรกของข่าว) หลายคนไม่ทราบจะทันดูข้อมูลข่าวการยัดไส้เนื้อหาของ สนช ในระหว่างการพิจารณาร่าง กม เกี่ยวกับปิโตรเลียมหรือไม่
ผมไม่ได้ข้อมูลละเอียดมากนัก แต่ จากหัวข้อข่าวที่ทาง หนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 28 มีนาคม 2560 ลงข้อมูลการให้สัมภาษณ์หม่อมอุ๋ยไว้ มีข้อคิดที่น่าสนใจว่า หน้าที่ของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะทำหน้าที่กำกับสัมปทานน้ำมันทั้งหมด แทนกระทรวงพลังงาน (แล้วจะมีกระทรวงไว้เพื่อ?) นัยว่าจะสามารถกำหนดการตัดสินใจเรื่องสัญญาและสัมปทานทั้งหมด
ฟังดูคล้ายๆอะไรครับ คล้ายๆ กสทช มั้ยเอ่ย ที่เข้ามากำกับการสื่อสารคมนาคมทุกอย่าง แล้วสร้างผลงานอะไรไว้บ้าง การประมูล 4G อันลือลั่นอย่างหนึ่งล่ะ การประมูลช่องทีวีดิจิตอลอีกอย่างล่ะ แล้วผลเป็นไงบ้าง ได้ชื่อว่าเป็นการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงที่สุดที่หนึ่งในโลก ไม่แน่ใจอันดับแต่ร่ำลือไปทั่ว หนึ่งในผู้ประมูลไม่สามารถดำเนินการได้จริง ที่เหลือได้ประมูลก็หวานอมขมกลืน เพราะสุดท้ายคนที่ประมูลไม่ได้ก็ยังได้สิทธิดำเนินการต่อด้วยการคุ้มครองชั่วคราว มาเป็นคู่แข่งที่ดุเดือดแต่ไม่ต้องจ่ายต้นทุนเพิ่ม ผมไม่มีปัญหากับการแข่งขันนะ แต่ว่าเกมนี้ที่ถูกเซตไว้มันชุ่ยน่ะ และมีโอกาสสูงมากที่จะเข้าสู่จุดอับในอนาคต คนที่จ่ายเงินแล้วไม่ได้เปรียบ คนที่ไม่ได้จ่ายถูกคุ้มครอง แต่ถ้าหักดิบกับรายที่ไม่ได้จ่ายไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นลูกค้าที่ต้องถูกลอยแพ ตลาดผูกขาดในตอนท้ายที่จะผลักภาระจากการประมูลอันสูงลิ่วมายังผู้บริโภค ภูมิใจมากเหรอที่ได้เงินประมูลในราคาสูง เหรอ?
ยังมีผลงานด้านการโทรทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน สามารถทำประวัติศาสตร์การประมูลช่องดิจิตอลที่น่าสนใจยิ่ง เพราะบางที่เขาไม่ได้จัดเป็นประมูลกัน เขาก็ขายใบอนุญาตกันในราคาที่แน่นอน และอาจจะใช้วิธีการทางข้อกำหนดอื่นๆเพื่อป้องกันการผูกขาด แต่สำหรับ กสทช นั้นเลือกการประมูล และก็มีหลายช่องที่ประมูลไปทั้งๆที่ไม่สามารถบริกหารจัดการได้จริง ซึ่งก็เข้าใจ เพราะมันอยู่ในธุรกิจ จะทิ้งไปก็ใช่ที่ ไม่รู้พวกเขาเหล่านั้นผิดเองมั้งที่โง่ประมูลในราคาสูงเอง ทั้งที่มันไม่สอดคล้องกับความเป็นไปได้ของธุรกิจ สุดท้ายมีหลายช่องที่ต้องหยุดกิจการเพราะมันไปไม่ไหวจริงๆ อีกหลายช่องผ่อนผันบ้าง จ่ายช้าบ้าง มันจะว่าเป็นความผิดของตัวเองก็ใช่นะ แต่ถามว่าคนดูได้อะไรบ้าง ทุกวันนี้เรามีกี่ช่องที่สามารถผลิตรายการมีคุณภาพได้จริงๆให้กับคนดู เอาละที่ว่าต่อให้สถานีโทรทัศน์รวยกว่านี้ รายได้มากกว่านี้ อาจจะไม่ผลิตรายการดีๆก็ได้ แต่ขอพักไว้ก่อน
เรื่องการออกข้อกำหนดก็ไม่รัดกุม จนทำให้ช่องหนึ่งออกอากาศทั้งในรูปแบบเดิมและแบบดิจิตอล จนเป็นเรื่องเป็นราวต้องไปตามล้างตามล่าบังคับให้เขาต้องทำตาม ทั้งๆที่ ทั้งๆที่ ตัวเองที่เขียนข้อกำหนดมีช่องโหว่เอง แต่ไม่คิดว่าจะต้องรับผิดชอบอะไรมันสักอย่าง แถมยังใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐจัดการเขาอีก(ขออภัย เหมือนเก็บกด)
แต่ประเด็นจริงๆ คือ กสทช มันมีไว้เพื่ออะไร มีไว้เพื่อให้รัฐ หรือที่จริงคือองค์กรที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐอย่างสมบูรณ์ (ก็เขาอิสระ) สามารถทำอะไรก็ได้เพื่อหาเงินเข้ารัฐ(หรือเปล่า ข่าวว่ากระเป๋า กสทช นั้นต่างหากจากรัฐ) หรือว่า มันควรมีไว้กำกับดูแล เพื่อประชาชน
ประชาชน ที่จ่ายเงินให้รัฐ ไปจ่ายให้องค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง (ก็อาจจะไม่ต้องการเงินของเราแล้วก็ได้ ก็เขาได้เงินประมูลไปมากขนาดนั้น)
แต่เอาเข้าจริง กสทช ก็ไม่ได้สนใจที่จะดูแลว่า ประชาชน สมควรได้รับอะไรจากการประมูลบ้าง นอกจากเฉลิมฉลองในการหารายได้เข้ารัฐ และทิ้งปัญหาเอาไว้ให้ภาคเอกชนแก้ไข ที่วันหนึ่งมันก็กระทบต่อประชาชน
สำหรับ บรรษัท น้ำมันแห่งชาติ ที่คิดจะตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์กร ที่จะมา"ก่อน"กระทรวงอีกทีหนึ่ง เพียงเห็นแนวคิดก็ปรากฏเงาของ กสทช มาลางๆ คำถามแรกๆในหัวคือ แล้วใครจะมานั่งกำกับดูแล แล้วเขาจะ"นั่ง"อยู่ยาวนานอีกแค่ไหน ถ้าทำงานแล้วมันผิดพลาดซ้ำซากเช่นเดียวกับ กสทช ล่ะ ใครจะมาจัดการได้ ก็เห็นอยู่ว่า ชื่อของคนใน กสทช ที่สร้างผลงานอันบรรเจิดอยู่กันมายาวนานเท่าไหร่ ไม่ว่ารัฐบาลในอนาคตที่(อาจจะ)มาจากการเลือกตั้งจะอยู่หรือไปก็ตาม "คน"ที่จะอยู่ในบรรษัทที่ว่าคุณว่าเขาจะอยู่หรือไปล่ะ ผมว่าน่าสงสัยนะ
แล้วสุดท้ายเราก็อาจจะทำอะไรไม่ได้เหมือนอย่างที่เป็นมา ต้องรับผลที่ตามมาในขณะที่ได้แต่นั่งดูเขาเล่นเกมกันไป
ถ้าหากค้านตอนนี้ก็จะมีคนถามว่า รายละเอียดยังไม่กำหนดเลยจะค้านอะไร ตีตนไปก่อนไข้หรือเปล่าก็อาจจะจริงนะ แต่ตอนที่เขาจะจบรายละเอียดกันเขาก็จะไม่ได้มาถามความเห็นพวกเราหรอก อย่าลืมล่ะ!