เมืองไทยไม่น่าเลย!: พฤศจิกายน 2011

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 13, 2554

อ่อนไหวใช่อ่อนแอ ไร้น้ำตาใช่ว่าไร้หัวใจ

กระแสข่าวร้อนแรงอันที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องไม่ใช่เรื่องที่กลายมาเป็นเรื่องอันมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

ไม่กี่วันมานี้เมื่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆว่าคุณปูหรือนายก ได้มีน้ำตารื้นขึ้นมาระหว่างตรวจเยี่ยมสภาพความเป็นอยู่ชาวบ้านจังหวัดนครสวรรค์หลังน้ำลด ที่ข่าวออกมาในลักษณะที่นายกร้องไห้จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่านายกอ่อนแอ ยิ่งจะทำให้ประชาชนที่รอคอยความช่วยเหลือเกิดความวิตกกังวลว่าวุฒิภาวะของคุณปูอาจมีปัญหาไม่เพียงพอแก่การเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของไทย

ซึ่งคุณปูออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ร้องไห้ เพียงแค่มีน้ำตาคลอเท่านั้น เพราะตื้นตันใจที่เห็นชาวบ้านรอดพ้นจากภัยเสียที

ข่าวนี้ให้อะไรแก่เราบ้างนอกจากเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเป็นเพียงหนึ่งในละครหลังข่าวเท่านั้น

เราลองมานึกภาพตัวเองสวมบทบาทผู้แก้ไขปัญหาทุกวันออกไปพบผู้ประสบภัย บางวันเห็นความรันทดถึงที่สุด บางวันมีคนให้กำลังใจ บางวันมีคนที่เราสามารถช่วยได้จนรอดพ้นภัย เราจะมีน้ำตาหรือไม่ ยังไม่ต้องตอบ นิยายชีวิตเรื่องยาวอย่างนี้อาจยากจินตนาการ

ใครเคยมีประสบการณ์เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังไม่ต้องพูดถึง ลองคิดถึงเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่งซึ่งเราอาจมีประสบการณ์ร่วมกันเกินครึ่ง คือดูหนังดีๆสักเรื่องหนึ่ง มีใครไม่เคยเสียน้ำตาหรือกระทั่งมีน้ำตาคลอบ้างให้กับการดูหนัง

ยกมือขึ้น

น่าจะมีน้อยกว่าน้อย เมื่อตัวเอกได้พบเรื่องราวอันน่ารันทดใจ มีบ้างสูญเสียบุตร ปวดร้าวเศร้าโศกแทบขาดใจ หรือมีความตกต่ำในชีวิตจนถึงขีดสุดแล้วมีคนให้กำลังใจ หรือคาดว่าหมดหนทางรอดชีวิตแล้วผ่านพ้นได้ปาฏิหาริย์ หรือบ้างยอมสละตนเพื่อช่วยโลกให้พ้นภัย

เราทุกคนต่างเสียน้ำตาให้กับเรื่องเหล่านี้ไม่ว่าแบบใดแบบหนึ่งที่กระทบจิตใจเรา

มีบ้างที่เสียน้ำตาให้หนังบางเรื่องในสถานการณ์พิเศษ เช่นเพิ่งสูญเสียคนรักไป พอดีหนังเรื่องนี้กระทบใจเราด้านนั้นพอดีจึงเสียน้ำตาร่ำไห้ออกมา บางคนไม่ร้องไห้แต่ดวงตาแดงก่ำก็เป็นความหมายเดียวกัน

คิดว่าคนหนึ่งคน ที่เห็นคนเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสามเดือนทุกวัน เหมือนดูหนังหลายเรื่องในหนึ่งวัน ทุกเรื่องเป็นหนังโศก หรือรันทดใจ หรือไม่ก็เป็นละครหลังข่าวมีตัวอิจฉาด่าทอ สลับกันไปมาให้ตัวเอกท้อใจ จนถึงการปรบมือให้กำลังใจในภาวะยากลำบาก

คุณคิดว่าถ้าเป็นคุณเองจะเสียน้ำตากี่ครั้ง ลองนับนิ้วดู ลองคิดดูว่าถ้าเป็นตัวคุณเองไม่เสียน้ำตาเลย คุณคิดว่าคุณเป็นคนอย่างไร เคยมั้ยครับที่ดูหนังบางเรื่อง เอาแบบว่าตอนเด็กๆดู”ครูบ้านนอก” ตอนครูปิยะตาย แล้วมีเพื่อนจำนวนน้อยมากๆอาจจะมีสักคนเดียวในห้องหรือในกลุ่ม ที่บอกว่า “กูไม่เห็นเศร้าเลย” คุณคิดว่าเขาเป็นคนอย่างไร เป็นคนเข้มแข็งเช่นนั้นหรือ หรือตอนนั้นคุณคิดว่าเขาใจดำ

จำได้หรือเปล่าครับ ความรู้สึกนั้น

ยังมีหนังบางเรื่องที่ เมื่อเราพบพานตัวเอกที่จิตใจตกต่ำแต่ต่อสู้สุดความสามารถ เมื่อมีคนให้กำลังใจเขาน้ำตาไหลออกมา ก่อนปาดน้ำตาทิ้งก้าวออกไปต่อสู้ต่อไปด้วยจิตใจที่เข้มแข็งบวกกับพละกำลังที่มากขึ้น เราตบมือให้ในใจ รู้สึกฮึกเหิมตามไปด้วย

แล้วทำไม เมื่อเราทั้งเสียน้ำตา และตบมือให้กำลังใจตัวเอกที่เป็นวีรบุรุษของเรื่องผู้เสียน้ำตา เราจึงต้องตั้งคำถามเรื่องการเสียน้ำตาของผู้นำด้วยเล่า

เราตั้งคำถามเรื่องการเสียน้ำตาเป็นเรื่องเป็นราว เช่นนั้นเราควรตั้งคำถามต่อผู้ที่ไม่เสียน้ำตาด้วยหรือไม่

ความอ่อนไหว ต้องเหมารวม ความอ่อนแอเข้าไปด้วยเช่นนั้นหรือ

แล้วความเข้มแข็งแย้มยิ้มไร้ร่องรอยน้ำตา แท้จริงแล้วคือ ความไร้หัวจิตหัวใจหรือไม่

ในชีวิตประจำวันคุณพบพานผู้คนมากมาย เขาเหล่านั้นเป็นผู้นำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม่ผู้มีหัวใจแข็งแกร่งร่ำไห้ทุกครั้งที่เห็นลูกป่วยหนักแต่ก็ยังสู้ต่อไป พ่อผู้ไม่เคยมีน้ำตาแต่คุณทราบดีว่าเขาปวดร้าวทุกครั้งที่เห็นลูกล้มเหลว

ที่อยากจะบอกก็คือ น้ำตาไม่ใช่คำตอบ การกระทำคือข้อพิสูจน์ที่ดีกว่า

อย่างที่จั่วหัวเรื่องเอาไว้ เรื่องมันไม่ใช่เรื่อง เรายังรับเอาข่าวที่เจือปนความรู้สึก ข่าวที่ขายความเป็นดราม่า เรายังรับลูกความเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการนำนิสัยของปัจเจกบุคคลมาเป็นประเด็นสำคัญ

ไม่ต่างกับสมัยที่ดูถูกนายกสมัครเพราะกินอาหารไม่เรียบร้อย หรือแคะขี้ฟันกลางสภา ในขณะที่บุคคลเดียวกันนี้เป็นคนเริ่มต้นวงแหวนรอบนอก และอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำที่มีประโยชน์ต่อคนไทยอย่างมหาศาล

ช่วยกันหยุดทีเถอะครับ

ถามว่าที่อ่อนแอมันใช่นายกที่ร่ำไห้หรือเปล่า

หรือเพราะ สังคมไทยกันแน่ที่อ่อนแอ

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 03, 2554

ละครโรงใหญ่ที่คลองสามวา

ขัดใจคุณชายสุขุมพันธฺุ์อยู่บ้าง แต่ท่านผู้ว่าเป็นทางของท่านที่จะแสดงการทำงานในแบบของท่านไป แต่ที่ขัดใจมากกว่าก็คือสื่อของไทย
นับตั้งแต่มีข่าวเรื่องชาวบ้านคลองสามวาพากันไป เรียกว่ายกพวกกันไปกดดันการเปิดประตูน้ำ กระทั่งว่าถ้าไม่มีประตูก็เลยสร้างประตูขึ้นเอง ด้วยการทำลายหูประตูน้ำ ก็เพิ่งเข้าใจตอนนี้เองว่าเขาเรียกข้างๆประตูว่าหูประตู
ปํญหาคือแอ็คชั่นตามหลังที่ท่านผู้ว่าสั่งการใหญ่ให้ตำรวจนำกำลังคุมเข้มซ่อมหูประตูน้ำ ซึ่งข่าวล่าสุดคือทุกอย่างเป็นไปด้วยดีไม่มีผู้ต่อต้าน แต่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน รองผู้ว่าให้สัมภาษณ์สื่อ ว่า 50 เขตมีสิทธิ์จมอยู่ใต้น้ำเพราะคลองสามวา
จริงหรือเท็จยกไว้ก่อน
เพียงแต่ว่าเรื่องนี้ถูกนำมาขยายใหญ่โตจากสื่อจนกระทั่งแทบกลายเป็นการยุยงให้คนที่ได้รับผลกระทบ เกลียดชังคนคลองสามวา ขอบอกก่อนว่าผู้เขียนเป็นผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช่คนคลองสามวา แต่ว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ การออกข่าวในลักษณะที่ว่า ชาวบ้านคลองสามวาเป็นคนไม่รับรู้สถานการณ์ไม่เข้าใจอะไรเลย จนกระทั่งว่าทำไมเห็นแก่ตัวขนาดนี้ นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
ผู้พุูดได้พูดไปแล้ว แต่การที่สื่อช่วยขยายความโดยเน้นความเห็นด้านเดียวเป็นเรื่องอันเหมาะสมหรือไม่
หากมีความรุนแรงสืบเนื่่องเรื่อยไปเนื่องจากคนมีความเห็นเป็นคู่ตรงข้ามกันในอีกหลายๆที่ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ
อย่าลืมว่ารายการข่าวในปัจจุบันกลายสภาพจากการรายงานข้อเท็จจริง ไปสู่การเป็นทีวีโชว์ในรูปแบบหนึ่ง เราไม่อาจโทษว่าคุณสรยุทธที่เป็นผู้จุดประกาย การเล่าข่าว เพราะหากไม่ใช่คุณสรยุทธสักวันก็ต้องมีคนลุกขึ้นมาทำ มันเป็นกระแสของโลกที่อย่างไรเสียมันก็ต้องเกิด เมื่อผู้คนหิวข้าวมีคนมาเสริฟ เมื่อผู้คนหิวข่าวก็มีคนมาเสริฟ ฉันใดฉันนั้น
แต่เมื่อมันไม่ได้มีเพียงข้อเท็จจริง เปรียบได้กับความแตกต่างระหว่างการขายข้าวเปล่าหรือข้าวสาร กลายเป็นการขายข้าวผัดอเมริกัน มันมีการปรุงแต่งเสริมเติมให้เอร็ดอร่อยถูกปากคนกิน ทำให้คนไม่สามารถมองเห็นข้าวกับไข่ดาวและไก่ทอดแยกกันอยู่ได้ เพียงมองเห็นมันเป็นข้าวผัดอเมริกันจานนั้น อร่อยจนลืมไปว่่า มันคือข้าวกับไข่ดาวและไก่ทอด
ข้อเท็จจริงถูกคลุกเคล้ากับความเห็น จนเป็นสมดังกับคำว่า "เรื่องเล่าเช้านี้" ตามชื่อรายการของคุณสรยุทธ ซึ่งผมว่ามันถูกต้องมากๆ เพราะสิ่งที่เราดูอยู่นั้น ไม่ใช่ไม่ดี ไม่มีข้ออคติใดๆกับคุณสรยุทธ ชอบดูเสียด้วยซ้ำ แต่ว่ามันก็เป็นเพียงเรื่องเล่าอย่างที่คุณสรยุทธจั่วหัวเอาไว้ มันไม่ใช่ข่าว
ทีนี้ ถ้าหลายๆคนหลายๆรายการเฝ้าแสดงข้อคิดเห็นไปในทางเดียวกัน โดยพักความเห็นต่างไว้ข้างหนึ่ง หรือแทบจะเรียกได้ว่าไม่ใส่ใจในคู่ตรงข้ามของความคิดเห็นนั้นแม้แต่น้อย เห็นได้จากไม่มีแม้สักช่องเดียวที่ขอสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวบ้านดีๆ สิ่งที่สือทั้งหมดร่วมใจกันนำเสนอมีเพียงภาพชาวบ้านที่โกรธเกรี้ยว ซึ่งอันที่จริงดูดีๆก็ไม่กี่คน ต้องถามว่าทำไมคนที่มาแบบไม่มีอารมณ์รุนแรงนั้นถึงได้ตามมาสนับสนุนคนผู้มีอารมณ์รุนแรงโดดเด่นไม่กี่คนนั้น ถามว่าหากไม่มีผูสนับสนุนที่มีอารมณ์ปกติเหล่านั้น คนผู้มีอารมณ์รุนแรงไม่กี่คนนั้นจะทำการสำเร็จหรือไม่ ทำไมไม่ถามว่าพวกเขาคิดอย่างไร อะไรผลักดันพวกเขาออกมาที่ตรงนั้น
การแสดงความคิดเห็นในทางเดียวกัน ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นในทิศทางเดียวกัน
เคยมั้ยครับที่ตอนเรียนหนังสือ ในห้องหนึ่ง เกิดแอนตี้เพื่อนคนหนึ่งขึ้นมาเพราะว่ามันไม่ทำอย่างที่เราทำ หรือเราอยากให้ทำ หรือแค่มันทำตัวโดดเด่น เราก็เลยพากันเสียดสีว่ากล่าว ถึงขั้นไม่คบ ทั้งที่ในใจเราเองหรือเพื่อนบางคน ก็ยังอยากให้โอกาส หรือที่จริงเราก็ว่ามันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น แต่ต่อจากนั้นก็ไม่กล้าพูดแล้ว ไม่อยากเข้าใกล้ด้วยเดี๋ยวพลอยโดนรังเกียจไปด้วย อันนี้เป็นปรากฏการปกติทางสังคมครับ เรียกม้นได้ว่า ปรากฏการณ์ความคิดแบบเด็กประถมมัธยม (มหาลัยไม่ค่อยมีแล้ว)
แต่ไม่น่าเชื่อว่าไอ้ความคิดแบบไร้การสืบสาวที่มาที่ไปนี้ กลายมาเป็น ละครคลองสามวา ซึ่งเป็นดรามาโรงใหญ่ที่สุดของประเทศไปในขณะนี้
ถ้าเราเคยคิดว่าการกระทำให้อดีตตอนเป็นเด็กประถมไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อเพื่อนร่วมชั้นของเรา
ถ้าเช่นนั้นเราควรหยุดการกระทำในปัจจุบันที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อเพื่อนร่วมประเทศของเราจะดีกว่าหรือไม่ โปรดพิจารณา